กรณีศึกษาการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

1.  วอยซ์ทีวี โร่แจ้งความ ภาพข่าวโดนตัดต่อพาดพิงศาสนาบนเฟซบุ๊ก
                         
                           

                           

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการ voicetv  

      สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เข้าแจ้งความดำเนินคดี กรณีมีผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กเอาภาพข่าวไปดัดแปลง
เจตนาพาดพิงถึงศาสนา สร้างความเข้าใจผิด
       เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายกฎหมายของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี
ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม
ทางคอมพิวเตอร์ หรือ ปอท. กรณีที่มีผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กเอาภาพข่าวของวอยซ์ทีวีไปดัดแปลง
ซึ่งภาพดัดแปลงดังกล่าวมีเจตนาพาดพิงถึงศาสนาและลดความน่าเชื่อถือ
      ทั้งนี้ในกรณีนี้คือข่าวต่างประเทศในรายการ Voice World Wideที่พาดหัวข่าวว่า 
"โป๊ปฟรานซิสเรียกร้องมุสลิมประณามผู้ก่อการร้าย" ก่อนจะถูกผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กรายหนึ่ง
แก้ไขข้อความเป็น "โป๊ปฟรานซิสเรียกร้องคริสต์-พุทธ ทำสงครามกับอิสลาม" 
นอกจากนี้ยังมีการทำภาพเปรียบเทียบระหว่างพาดหัวข่าวสำหรับแชร์ในเฟซบุ๊กและพาดหัวข่าวจริง
ในเว็บไซต์ที่แตกต่างกันอีกด้วย พร้อมเขียนข้อความเพิ่มเติมในทำนองที่ว่า สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี
จงใจพาดหัวข่าวสำหรับการแชร์บนเฟซบุ๊กให้แตกต่างจากข่าวจริงที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์
เพื่อให้ผู้อ่านสนใจและแชร์ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด 
       นอกจากนี้ ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีได้กล่าวว่า การดำเนินคดี
ในครั้งนี้หวังให้เป็นอุทาหรณ์ของผู้ที่แชร์ข่าว โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน และอยากให้สังคม
ตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญา อีกทั้งการแก้ไขพาดหัวข่าวในเฟซบุ๊ก
นั้นสามารถทำได้โดยง่าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ที่อ่านข่าว
หรือแชร์ข้อมูลต่ออย่างมาก 
       อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังถือว่ามีความผิดฐานแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์
ของผู้อื่นโดยมิชอบ ตามมาตรา 14 อนุ 1 แห่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี
ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งความผิดทางอาญาตามมาตรา 328
แห่งประมวลกฎหมายอาญา หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:https://hilight.kapook.com/view/112692

 

2.  คดีโพสต์วิจารณ์ตำรวจอ้าง ม.44 ค้นบ้าน
       อีกคดี คือ คดีของบริบูรณ์ เกียงวรางกูล ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
มาตรา 14 (1) จากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าค้นบ้าน โดยอ้างอำนาจตาม มาตรา 44
                      
                        

      บริบูรณ์ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการศาลจังหวัดราชบุรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2560
ใจความว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560
มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2560 โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ยกเลิกข้อความใน มาตรา 14
ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับเดิม และบัญญัติใหม่ไว้ว่า ห้ามมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ลงโทษ
กับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จึงขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
           ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 อัยการศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีบริบูรณ์ในข้อหาตาม
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนข้อหาหมิ่นประมาทยังอยู่ระหว่างอัยการศาลแขวงราชบุรีทำความเห็น
โดยจะนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีวันที่ 26 ธ.ค. 2560 แสดงให้เห็นว่าในชั้นอัยการเริ่มมีการปรับ
ใช้กฎหมายให้ตรงกับเจตนารมณ์ที่แก้ไข แต่ยังมีอีกคดีที่น่าจับตา คือคดีของรินดา พรศิริพิทักษ์
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:https://www.tlhr2014.com

 

3.  เพจกฎหมายชี้ โพสต์-แชร์เพลง ประเทศกูมี อาจไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ
                  
                   

ภาพจาก Rap Against Dictatorship

      เพจกฎหมายชี้ โพสต์-แชร์ "ประเทศกูมี" อาจไม่ผิด พ.ร.บ. คอมฯ เพราะไม่ใช่ข้อมูลเท็จ
จะผิด พ.ร.บ. คอมฯ ได้ต้องครบองค์ประกอบความผิดทุกข้อก่อน
       นับว่ายังคงเป็นกระแสร้อนแรง สำหรับเพลง "ประเทศกูมี" ของกลุ่มศิลปิน
Rap Against Dictatorship ที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้ พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ
รองโฆษก ปอท. ระบุว่า ผู้ที่โพสต์หรือแชร์เพลงนี้ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เนื่องจากเพลงประเทศกูมี เข้าข่าย
การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย
ต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 
[อ่านข่าว : ปอท. ชี้ ใครโพสต์ต่อ - แชร์เพลง #ประเทศกูมี ส่อผิด พ.ร.บ.คอมฯ - ยังไม่มีการจับกุม คลิก]
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 28 ตุลาคม 2561 เฟซบุ๊ก iLaw ซึ่งเป็นเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย
ได้ยกข้อมูลคำพิพากษาคดีในลักษณะคล้ายกันมาแสดงตัวอย่าง เพื่อให้พิจารณาว่า การโพสต์
หรือแชร์อย่างไรจะผิด หรือไม่ผิดกฎหมาย
       โดยองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นั้น กำหนดไว้ว่า
ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย
ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ
ของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความ
ตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:https://hilight.kapook.com

 

4.   คนขี้หึงสะดุ้ง เช็กมือถือแฟน ผิดกฎหมาย ระวังคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น
 
                       

       เพจเฟซบุ๊ก สายตรงกฎหมาย เตือนคนชอบแอบเข้าดูโทรศัพท์มือถือแฟน เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมพ์
ส่อจำคุก 2 ปี หรือปรับ 4 หมื่น
       กำลังเป็นเรื่องที่ผู้มีพฤติกรรมไม่ไว้วางคู่รักต้องเสียวกันเป็นแถบ ๆ หลังเพจเฟซบุ๊ก สายตรงกฎหมาย 
ระบุว่า ผู้ใดที่แอบเข้าไปดูโทรศัพท์มือถือของคนอื่น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย แม้กรณีดังกล่าว
ผู้ที่แอบดูอาจจะเป็นคู่รักกันก็ตาม
       โพสต์ดังกล่าวใจความว่า การแอบดูโทรศัพท์ของแฟนหรือของผู้อื่น กฎหมายไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะ
จงว่าเป็นความผิด แต่ถือว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพราะโทรศัพท์สมัยนี้เป็น
สมาร์ทโฟนเกือบทั้งหมด ดังนั้นการเข้ารหัสโทรศัพท์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเข้าข่ายเป็น
การเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องดูเป็นกรณีไป ดังนั้นหากหมดรักหรือขัดแย้งกันอีกฝ่าย
อาจจะสามารถเอาผิดได้สำหรับ กรณีนี้นั้น มาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ
คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
       มาตรา 3 ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใดบรรดา
ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึง
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
       มาตรา 7 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ
และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สําหรับตน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
หรือทั้งจําทั้งปรับ
 
                             

                                            ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สายตรงกฎหมาย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:https://hilight.kapook.com

 

5.  ปอท. ยันเพจดังไม่ผิด พ.ร.บ. คอมฯ หลังโยง กวาง อรการ มือที่สาม

                        

      ปอท. ยัน เพจดังไม่ผิด พ.ร.บ. คอมฯ หลังโยง กวาง อรการ มือที่สาม แอฟ-สงกรานต์
ชี้มีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
       จากกรณีที่เฟซบุ๊กเพจชื่อดังเพจหนึ่ง ได้โพสต์ภาพของ กวาง อรการ ผู้ประกาศข่าวสาว
และเชื่อมโยงว่าเป็นมือที่สาม ระหว่าง  สงกรานต์ เตชะณรงค์ และ แอฟ ทักษอร จนทำให้ทั้งคู่ต้อง
แยกกันอยู่ แต่ต่อมา กวาง อรการ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว และนำหลักฐานแจ้งความเอาผิดเพจ
ที่ทำให้เธอเสียหาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
       ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 26 กันยายน 2560 พ.ต.อ. โอฬาร  สุขเกษม ผกก.3
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) 
เปิดเผยว่า กรณีนี้ กวาง อรการ ได้นำหลักฐานมาแจ้งความเอาผิด 2 เพจดัง แต่พิจารณาแล้ว
ไม่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่เป็นลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จึงได้แจ้ง
ข้อกล่าวหาแล้ว

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:https://women.kapook.com

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา โครงการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ครูที่ปรึกษา ครูสุดฤดี ประทุมชาติ ปีการศึกษา 2561