พระราชบัญญัติ
                                         ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒)
                                                                   พ.ศ. ๒๕๖๐
                                        สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร
                                                  ให้ไว้  ณ  วันที่  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๖๐
                                                          เป็นปีที่  ๒  ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร  มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ดังต่อไปนี้

มาตรา  ๑
      พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า  “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ 
(ฉบับที่  ๒)  พ.ศ.  ๒๕๖๐”
มาตรา ๒
       พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เป็นต้นไป
มาตรา  ๓

       ให้ยกเลิกความในมาตรา  ๔  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 
พ.ศ.  ๒๕๕๐  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      “มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการ
ตามพระราชบัญญัตินี้  และให้มีอํานาจ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงและ
ประกาศเพื่อปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงและประกาศนั้น 
เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”
มาตรา ๔

       ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองและวรรคสามของมาตรา  ๑๑ 
แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐       
      “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น
อันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความ เดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือ
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์  โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับ สามารถบอกเลิก หรือแจ้งความประสงค์
เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท ให้รัฐมนตรีออก
ประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง  รวมทั้งลักษณะและปริมาณของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์
หรือจดหมาย อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับ 
และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้ง ความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย”
มาตรา ๕
       ให้ยกเลิกความในมาตรา  ๑๒  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
       “มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา  ๕  มาตรา  ๖  มาตรา  ๗ 
มาตรา  ๘   หรือมาตรา  ๑๑  เป็นการกระทําต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์
ที่เกี่ยวกับการรักษา ความมั่นคงปลอดภัยของ ประเทศ  ความปลอดภัยสาธารณะ 
ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็น ประโยชน์สาธารณะ 
ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี  และปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท      
       ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์
หรือระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าว  ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี  และปรับตั้งแต่
สองหมื่นบาทถึง สองแสนบาท       
      ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา  ๙  หรือมาตรา  ๑๐  เป็นการกระทําต่อ
ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง  ต้องระวางโทษจําคุก
ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี  และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาท ถึงสามแสนบาท      
       ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามโดยมิได้มีเจตนาฆ่า 
แต่เป็นเหตุให้บุคคลอื่น ถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี 
และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท”
มาตรา ๖
       ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา  ๑๒/๑  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทํา
ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
       “มาตรา ๑๒/๑ ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา  ๙  หรือมาตรา  ๑๐ 
เป็นเหตุให้เกิดอันตราย แก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น  ต้องระวางโทษจําคุก
ไม่เกินสิบปี  และปรับไม่เกินสองแสนบาท
       ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา  ๙  หรือมาตรา  ๑๐  โดยมิได้มีเจตนาฆ่า 
แต่เป็นเหตุให้บุคคลอื่น ถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี 
และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท”
มาตรา ๗
       ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง  วรรคสาม  วรรคสี่  และวรรคห้าของ
มาตรา  ๑๓  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ
คอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
      “ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือ
ในการกระทํา ความผิดตามมาตรา  ๑๒  วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม  ต้องระวางโทษ
จําคุกไม่เกินสองปี  หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจําทั้งปรับ
       ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็นเครื่องมือในการ
กระทําความผิดตามมาตรา  ๕  มาตรา  ๖  มาตรา  ๗  มาตรา  ๘  มาตรา  ๙  มาตรา  ๑๐ 
หรือมาตรา  ๑๑  หากผู้นําไปใช้ได้กระทําความผิดตามมาตรา  ๑๒  วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม 
หรือต้องรับผิดตามมาตรา  ๑๒  วรรคสองหรือวรรคสี่  หรือมาตรา  ๑๒/๑  ผู้จําหน่าย
หรือเผยแพร่ชุดคําสั่งดังกล่าวจะต้องรับผิดทางอาญา ตามความผิดที่มีกําหนดโทษสูงขึ้นด้วย 
ก็เฉพาะเมื่อตนได้รู้หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นที่เกิดขึ้นนั้น
       ผู้ใดจําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่งที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนําไปใช้เป็น
เครื่องมือในการกระทํา ความผิดตามมาตรา  ๑๒  วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม 
หากผู้นําไปใช้ได้กระทําความผิดตามมาตรา  ๑๒  วรรคหนึ่ง หรือวรรค สาม 
หรือต้องรับผิดตามมาตรา  ๑๒  วรรคสองหรือวรรคสี่  หรือมาตรา  ๑๒/๑ 
ผู้จําหน่าย หรือเผยแพร่ชุดคําสั่ง ดังกล่าวต้องรับผิดทางอาญาตามความผิด
ที่มีกําหนดโทษสูงขึ้นนั้น ในกรณีที่ผู้จําหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคําสั่ง
ผู้ใดต้องรับผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง  และตามวรรคสาม
หรือวรรคสี่ด้วย  ให้ผู้นั้นต้องรับโทษที่มีอัตราโทษสูงที่สุดแต่กระทงเดียว”
มาตรา ๘
       ให้ยกเลิกความในมาตรา  ๑๔  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้  ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี   
หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท  หรือทั้งจําทั้งปรับ
       (๑) โดยทุจริต  หรือโดยหลอกลวง  นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์
ที่บิดเบือน หรือ ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน  หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ 
โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน  อันมิใช่การกระทําความผิดฐาน
หมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
       (๒) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  โดยประการ
ที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ  ความปลอดภัย
สาธารณะ  ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ  หรือโครงสร้างพื้นฐาน
อันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ  หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
       (๓) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ  อันเป็นความผิด
เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
ตามประมวลกฎหมายอาญา
       (๔) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ  ที่มีลักษณะอันลามก
และข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
       (๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม 
(๑)  (๒)  (๓)  หรือ  (๔) ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง  (๑) 
มิได้กระทําต่อประชาชน  แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง  ผู้กระทํา 
ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี 
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ  และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”
มาตรา ๙
       ให้ยกเลิกความในมาตรา  ๑๕  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      “มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ  ยินยอม  หรือรู้เห็นเป็นใจ
ให้มีการกระทําความผิด ตามมาตรา  ๑๔  ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน 
ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด ตามมาตรา  ๑๔
       ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน  การระงับการทําให้แพร่หลายของ
ข้อมูลคอมพิวเตอร์  และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์
       ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง 
ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”
มาตรา ๑๐
       ให้ยกเลิกความในมาตรา  ๑๖  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.  ๒๕๕๐  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      “มาตรา ๑๖ ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่ง
ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น  และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น 
ตัดต่อ  เติม  หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการ
ที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่น  ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอาย 
ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี  และปรับไม่เกินสองแสนบาท
       ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย  และการกระทํานั้นน่าจะ
ทําให้บิดา มารดา  คู่สมรส  หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง 
หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในนวรรคหนึ่ง
       ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง  เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร
์โดยสุจริตอันเป็น การติชมด้วยความเป็นธรรม  ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชน
ย่อมกระทํา  ผู้กระทําไม่มีความผิด      
       ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์  ให้บิดา  มารดา 
คู่สมรส  หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้  และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”
มาตรา ๑๑
       ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา  ๑๖/๑  และมาตรา  ๑๖/๒  แห่งพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.  ๒๕๕๐
      “มาตรา ๑๖/๑ ในคดีความผิดตามมาตรา  ๑๔  หรือมาตรา  ๑๖  ซึ่งมีคําพิพากษาว่าจําเลย
มีความผิด ศาลอาจสั่ง
       (๑) ให้ทําลายข้อมูลตามมาตราดังกล่าว
       (๒) ให้โฆษณาหรือเผยแพร่คําพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 
วิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  หรือสื่ออื่นใด  ตามที่ศาลเห็นสมควร 
โดยให้จําเลยเป็นผู้ชําระค่าโฆษณาหรือเผยแพร่
       (๓) ให้ดําเนินการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก
การกระทํา ความผิดนั้นมาตรา ๑๖/๒ ผู้ใดรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตน
เป็นข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทําลายตามมาตรา  ๑๖/๑  ผู้นั้นต้องทําลายข้อมูลดังกล่าว 
หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา  ๑๔  หรือมาตรา  ๑๖ 
แล้วแต่กรณี”
มาตรา ๑๒
       ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา  ๑๗/๑  ในหมวด  ๑  ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 
แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
      “มาตรา ๑๗/๑ ความผิดตามมาตรา  ๕  มาตรา  ๖  มาตรา  ๗  มาตรา  ๑๑ 
มาตรา  ๑๓ วรรคหนึ่ง มาตรา  ๑๖/๒  มาตรา  ๒๓  มาตรา  ๒๔  และมาตรา  ๒๗ 
ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอํานาจเปรียบเทียบได้
       คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจํานวนสามคน
ซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
       เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทําการเปรียบเทียบกรณีใดและผู้ต้องหาได้
ชําระเงินค่าปรับตามคําเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบ
กําหนดแล้ว  ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
       ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ชําระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กําหนด 
ให้เริ่มนับอายุความในการฟ้องคดีใหม่นับตั้งแต่วันที่ครบกําหนดระยะเวลาดังกล่าว”
มาตรา ๑๓
       ให้ยกเลิกความในมาตรา  ๑๘  และมาตรา  ๑๙  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย
การกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      “มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา  ๑๙  เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน
ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้  หรือในกรณี
ที่มีการร้องขอตามวรรคสอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจอย่างหนึ่งอย่างใด  ดังต่อไปนี้ 
เฉพาะที่จําเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทําความผิด
และหาตัวผู้กระทําความผิด
       (๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมา
เพื่อให้ถ้อยคํา   ส่งคําชี้แจงเป็นหนังสือ  หรือส่งเอกสาร  ข้อมูล  หรือหลักฐานอื่นใด
ที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
       (๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร
ผ่านระคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
       (๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา  ๒๖ 
หรือที่อยู่ ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
หรือให้เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ก่อน
       (๔) ทําสําเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์  ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์
ที่มี เหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิด  ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น
ยังมิได้อยู่ในความครอบครอง ของพนักงานเจ้าหน้าที่
       (๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์
ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์  หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่
พนักงานเจ้าหน้าที่
       (๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์  ข้อมูลคอมพิวเตอร์ 
ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด 
อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทําความผิด  หรือเพื่อสืบสวนหา
ตัวผู้กระทําความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 
ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จําเป็นให้ด้วยก็ได้
       (๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด  หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง
กับการเข้ารหัสลับ ของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์  ทําการถอดรหัสลับ  หรือให้ความร่วมมือ
กับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับ ดังกล่าว
       (๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จําเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบ
รายละเอียด แห่งความผิดและผู้กระทําความผิด
       เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความอาญา  ในบรรดาความผิดอาญาต่อกฎหมายอื่นซึ่งได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ 
ข้อมูลคอมพิวเตอร์  หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่ง
ในการกระทําความผิดหรือมีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดอาญา
ตามกฎหมายอื่น  พนักงานสอบสวน อาจร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง
ดําเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้  หรือหากปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รวบรวม
ข้อเท็จจริงและหลักฐานแล้วแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดําเนินการต่อไป
       ให้ผู้ได้รับการร้องขอจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง  (๑)  (๒)  และ  (๓) 
ดําเนินการ ตามคําร้องขอโดยไม่ชักช้า  แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ 
หรือภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กําหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและไม่เกินสิบห้าวัน 
เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสมควร  ต้องได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่  ทั้งนี้ 
รัฐมนตรีอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กําหนดระยะเวลาที่ต้องดําเนินการ  
ที่เหมาะสมกับประเภทของผู้ให้บริการก็ได้
       มาตรา ๑๙ การใช้อํานาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  ๑๘  (๔)  (๕)  (๖)  (๗) 
และ  (๘)  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคําร้องต่อศาลที่มีเขตอํานาจเพื่อมีคําสั่งอนุญาต
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการ ตามคําร้อง  ทั้งนี้คําร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่า
บุคคลใดกระทําหรือกําลังจะกระทําการอย่างหนึ่ง อย่างใดอันเป็นความผิด  เหตุที่ต้องใช้อํานาจ 
ลักษณะของการกระทําความผิด  รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ ที่ใช้ในการกระทําความผิด
และผู้กระทําความผิด  เท่าที่สามารถจะระบุได้  ประกอบคําร้องด้วย  ในการพิจารณา
คําร้องให้ศาลพิจารณาคําร้องดังกล่าวโดยเร็ว
       เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตแล้ว  ก่อนดําเนินการตามคําสั่งของศาล  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่
ส่งสำเนา บันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทําให้ต้องใช้อํานาจตามมาตรา  ๑๘  (๔)  (๕)  (๖) 
(๗)  และ  (๘)  มอบให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน 
แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่  ณ  ที่นั้น  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่
ส่งมอบสําเนาบันทึกนี้ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันที ที่กระทําได้
       ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดําเนินการตามมาตรา  ๑๘  (๔)  (๕)  (๖) 
(๗)  และ  (๘)ส่งสําเนาบันทึกรายละเอียดการดําเนินการและเหตุผลแห่งการดําเนินการ
ให้ศาลที่มีเขตอํานาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ  เพื่อเป็นหลักฐาน
       การทําสําเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา  ๑๘  (๔)  ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควร
เชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิด  และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดําเนินกิจการของเจ้าของหรือ
ผู้ครอบครอง ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจําเป็น
       การยึดหรืออายัดตามมาตรา  ๑๘  (๘)  นอกจากจะต้องส่งมอบสําเนาหนังสือแสดงการยึด
หรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้ว 
พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึด หรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้  ในกรณีจําเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้
นานกว่านั้น  ให้ยื่นคําร้องต่อศาลที่มี เขตอํานาจเพื่อขอ ขยายเวลายึดหรืออายัดได้ 
แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้ง รวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน
เมื่อหมดความจําเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกําหนดเวลาดังกล่าวแล้ว  พนักงานเจ้าหน้าที่
ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน
       หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา ๑๔
       ให้ยกเลิกความในมาตรา  ๒๐  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      “มาตรา ๒๐ ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์  ดังต่อไปนี้ 
พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐาน
ต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์
นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
       (๑) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
       (๒) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ตามที่กําหนดไว้ ในภาค๒  ลักษณะ  ๑  หรือลักษณะ  ๑/๑  แห่งประมวลกฎหมายอาญา
       (๓) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
หรือกฎหมายอื่นซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย
หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอ
      ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย
หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรอง
ข้อมูลคอมพิวเตอร์ จะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐาน
ต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่ง ระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์
นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้  ทั้งนี้  ให้นําบทบัญญัติ ว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจ
ดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครองมาใช้
บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยอนุโลม
       ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคสองขึ้นคณะหนึ่ง
หรือหลายคณะ  แต่ละคณะให้มีกรรมการจํานวนเก้าคนซึ่งสามในเก้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชน
ด้านสิทธิมนุษยชน  ด้านสื่อสารมวลชน  ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง 
และให้กรรมการ ได้รับค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกําหนดโดยได้รับความเห็นชอบ
จากกระทรวงการคลัง
       การดําเนินการของศาลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง  ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม  ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งให้ระงับการทําให้แพร่หลาย
หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง  พนักงานเจ้าหน้าที่จะทําการระงับ
การทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ นั้นเองหรือจะสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทําให้
แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้  ทั้งนี้  ให้รัฐมนตรี ประกาศกําหนด
หลักเกณฑ์  ระยะเวลา  และวิธีการปฏิบัติสําหรับการระงับการทําให้แพร่หลายหรือ
ลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
โดยคํานึงถึงพัฒนาการ ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป  เว้นแต่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
       ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วน  พนักงานเจ้าหน้าที่จะยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่งไปก่อน
ที่จะได้รับ ความเห็นชอบจากรัฐมนตรี  หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการกลั่นกรอง ข้อมูลคอมพิวเตอร์จะยื่นคําร้องตามวรรคสอง
ไปก่อนที่รัฐมนตรีจะมอบหมายก็ได้  แต่ทั้งนี้ต้องรายงาน ให้รัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”
มาตรา ๑๕
       ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา  ๒๑  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย
การกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      “ชุดคําสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคําสั่งที่มีผลทําให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์   
หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคําสั่งอื่นเกิดความเสียหาย  ถูกทําลาย  ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง
หรือเพิ่มเติม  ขัดข้องหรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคําสั่ง  หรือโดยประการอื่นตามที่กําหนด
ในกฎกระทรวง  เว้นแต่ เป็นชุดคําสั่งไม่พึงประสงค์ที่อาจนํามาใช้เพื่อป้องกันหรือแก้ไขชุดคําสั่ง
ดังกล่าวข้างต้น  ทั้งนี้  รัฐมนตรี อาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากําหนดรายชื่อ  ลักษณะ 
หรือรายละเอียดของชุดคําสั่งไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจนํามาใช้เพื่อป้องกันหรือแก้ไขชุดคําสั่ง
ไม่พึงประสงค์ก็ได้”
มาตรา ๑๖
       ให้ยกเลิกความในมาตรา  ๒๒  มาตรา  ๒๓  มาตรา  ๒๔  และมาตรา  ๒๕ 
แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 
พ.ศ.  ๒๕๕๐  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      “มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานสอบสวนในกรณีตามมาตรา  ๑๘ 
วรรคสองเปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์  ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 
หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ได้มา ตามมาตรา  ๑๘  ให้แก่บุคคลใด
       ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทําเพื่อประโยชน์ในการดําเนินคดี
กับผู้กระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือผู้กระทําความผิดตามกฎหมายอื่น
ในกรณีตามมาตรา  ๑๘  วรรคสอง   หรือเพื่อประโยชน์ในการดําเนินคดีกับพนักงาน
เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อํานาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือกับพนักงานสอบสวนในส่วนที่เกี่ยว
กับการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา  ๑๘  วรรคสอง  โดยมิชอบ   หรือเป็นการกระทําตาม
คําสั่งหรือที่ได้รับอนุญาต จากศาล
       พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจําคุก
ไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจําทั้งปรับ
       มาตรา ๒๓ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนในกรณีตามมาตรา  ๑๘ 
วรรคสอง  ผู้ใดกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ 
ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์  หรือข้อมูล ของผู้ใช้บริการ  ที่ได้มาตามมาตรา  ๑๘ 
ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี  หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท  หรือทั้งจําทั้งปรับ
       มาตรา ๒๔ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์  ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 
หรือข้อมูลของ ผู้ใช้บริการที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนได้มาตามมาตรา  ๑๘ 
และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อ ผู้หนึ่งผู้ใด  ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี  หรือปรับไม่เกิน
สี่หมื่นบาท  หรือทั้งจําทั้งปรับ
       มาตรา ๒๕ ข้อมูล  ข้อมูลคอมพิวเตอร์  หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์
ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้หรือที่พนักงานสอบสวนได้มาตามมาตรา  ๑๘ 
วรรคสอง  ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วย การสืบพยานได้  แต่ต้องเป็นชนิด
ที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ  มีคํามั่นสัญญา  ขู่เข็ญ  หลอกลวง  หรือโดยมิชอบ ประการอื่น”
มาตรา ๑๗
      ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา  ๒๖  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย
การกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      “มาตรา ๒๖ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า
เก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์  แต่ในกรณีจําเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่
จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวัน
แต่ไม่เกินสองปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย และเฉพาะคราวก็ได้”
มาตรา ๑๘
      ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองและวรรคสามของมาตรา  ๒๘ 
แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
      “ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้  อาจได้รับค่าตอบแทนพิเศษ
ตามที่รัฐมนตรีกําหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ในการกําหนดให้ได้รับ
ค่าตอบแทนพิเศษต้องคํานึงถึงภาระหน้าที่  ความรู้ความเชี่ยวชาญ ความขาดแคลนในการหา
ผู้มาปฏิบัติหน้าที่หรือมีการสูญเสียผู้ปฏิบัติงานออกจากระบบราชการเป็นจํานวนมาก
คุณภาพของงานและการดํารงตนอยู่ในความยุติธรรมโดยเปรียบเทียบค่าตอบแทนของ
ผู้ปฏิบัติงานอื่น ในกระบวนการยุติธรรมด้วย”
มาตรา ๑๙
      ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา  ๓๑  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
      “มาตรา ๓๑ ค่าใช้จ่ายในเรื่องดังต่อไปนี้  รวมทั้งวิธีการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบ
ที่รัฐมนตรีกําหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
       (๑) การสืบสวน  การแสวงหาข้อมูล  และรวบรวมพยานหลักฐานในคดีความผิดตาม
พระราชบัญญัตินี้
       (๒) การดําเนินการตามมาตรา  ๑๘  วรรคหนึ่ง  (๔)  (๕)  (๖)  (๗)  และ  (๘) 
และมาตรา  ๒๐
       (๓) การดําเนินการอื่นใดอันจําเป็นแก่การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิด
ตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา ๒๐
      บรรดาระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐  ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ 
ให้ยังคง ใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทําความผิด
เกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  จนกว่าจะมีระเบียบ
หรือประกาศที่ต้อง ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 
พ.ศ.  ๒๕๕๐  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้  ใช้บังคับ
       การดําเนินการออกระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่ง  ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน
หกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  หากไม่สามารถดําเนินการได้ให้รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดําเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรี
เพื่อทราบ
มาตรา ๒๑
      ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้

  ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก  ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้  คือ  โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการ
กระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม
ต่อการป้องกันและปราบปราม การกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน 
ซึ่งมีรูปแบบการกระทําความผิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตามพัฒนาการทางเทคโนโลยี
ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและโดยที่มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ
และสังคมซึ่งมีภารกิจในการกําหนดมาตรฐานและมาตรการในการรักษาความมั่นคง
ปลอดภัยไซเบอร์  รวมทั้ง การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัย
ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ  สมควรปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนที่
เกี่ยวกับผู้รักษาการตามกฎหมาย  กําหนดฐานความผิดขึ้นใหม่  และแก้ไข เพิ่มเติมฐาน
ความผิดเดิม  รวมทั้งบทกําหนดโทษของความผิดดังกล่าว  การปรับปรุงกระบวนการและ
หลักเกณฑ์ ในการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์  ตลอดจนกําหนด
ให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งมีอํานาจเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พ.ศ.  ๒๕๕๐  และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่
ของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

                                                                                                       <<คลิกที่นี่เพื่อกลับสู่ด้านบน>>

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา โครงการ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ครูที่ปรึกษา ครูสุดฤดี ประทุมชาติ ปีการศึกษา 2561